Monday, July 27, 2020

วิจัยอนุรักษ์ "เอกลักษณ์พันธุกรรมปลากัดไทย' - ไทยโพสต์

sumibar.blogspot.com

 

ปล่ากัดสวยงาม

ปลากัด (Betta splendens) นับว่าเป็นปลาพื้นเมืองของไทย พบในแหล่งน้ำทั่วทุกภาค เป็นสัตว์น้ำยอดนิยมที่คนเพาะเลี้ยงไว้ดูเล่นมากที่สุดและเป็นสัตว์น้ำที่เลี้ยงไว้เพื่อแข่งขัน ที่เรียกว่าแข่งขัน "ปลากัด" ซึ่งเป็นการละเล่นสืบทอดมาตั้งสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจนถึงปัจจุบัน "ปลากัดไทย" จึงได้รับการยกย่องให้เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ
    แต่ด้วยการพัฒนาของบ้านเมืองที่เจริญขึ้น ส่งผลให้แหล่งน้ำที่อยู่อาศัยของปลากัดได้รับผลกระทบ สุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ อีกทั้งการเพาะพันธุ์ทำให้ปลากัดมีความหลากหลายจนยากที่จะรู้ได้ว่าเป็นพันธุ์ดั้งเดิมหรือไม่ ดังนั้นการรักษาพันธุกรรมของปลากัดจึงมีความสำคัญอย่างมาก
    ด้วยเหตุนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสมาคมปลากัด แถลงข่าวจัดทำโครงการการวิจัยเพื่อการอนุรักษ์เอกลักษณ์ทางพันธุกรรมปลากัดพื้นเมืองอย่างยั่งยืน และการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพเชิงเศรษฐกิจ เพื่อเป็นจุดศูนย์กลางของความร่วมมือระหว่างองค์กรที่มีความสนใจในการทำงานวิจัยด้านปลากัด พร้อมศึกษา ค้นคว้า และจัดทำฐานข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

รศ.ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์


    รศ.ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ ผู้จัดการโครงการส่งเสริมกิจกรรมการให้ทุนวิจัยมุ่งเป้า สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) (สพภ.) กล่าวว่า ด้วยจุดประสงค์เพื่อการอนุรักษ์เอกลักษณ์ทางพันธุกรรมปลากัดพื้นเมืองอย่างยั่งยืน และการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งหน่วยงานที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการวิจัยนี้ล้วนมีความสนใจในการทำงานวิจัยด้านปลากัด ทั้งการศึกษา ค้นคว้า และจัดทำฐานข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพ อนุกรมวิธาน เอกลักษณ์ทางพันธุกรรม นิเวศวิทยา และการแพร่กระจายของปลากัดป่า ซึ่งอาศัยอยู่ในแหล่งธรรมชาติของประเทศไทย และทำการเก็บรักษาเอกลักษณ์ทางพันธุกรรมของปลากัดด้วยเทคโนโลยีการแช่แข็งเซลล์และการโคลนนิง

ปลากัดป่า 


    รศ.ดร.ครศร ศรีกุลนาถ อาจารย์ประจำภาควิชาพันธุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะประธานโครงการ กล่าวว่า ในโครงการวิจัยนี้ต้องการที่จะทำการวิจัยอย่างเจาะลึกถึงเอกลักษณ์ การเพาะพันธุ์ แหล่งที่อยู่อาศัยของปลากัด จากที่มีการเพาะเลี้ยงทั่วไปตามวิถีชาวบ้าน เพื่อทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นสูงสุด โดยการดำเนินการในเฟสแรกในระยะเวลา 3 ปี จะทำการศึกษาหลักๆ คือ 1.ทำการศึกษาสำรวจปลากัดทุกประเภท ทั้งปลากัดป่าที่อยู่ตามธรรมชาติ อาศัยอยู่ตรงแหล่งน้ำไหนบ้าง ซึ่งหากในระหว่างการสำรวจพบว่าแหล่งน้ำนี้ปลากัดเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ก็จะต้องทำการอนุรักษ์ อย่างปลากัดมหาชัยในพื้นที่สมุทรสาครก็มีความเสี่ยง เพราะมีโรงงานอุตสาหกรรมเยอะ และมีบางจุดกลายเป็นชุมชนเมือง ดังนั้นเราอาจจะต้องวางกรอบแบบแผนในการอนุรักษ์ต่อไป 2.การศึกษาในระดับจีโนม เพื่อเก็บรักษาพันธุกรรมของปลากัดสายพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งในขณะนี้มีการทำสำเร็จ 2 ชนิด ได้แก่ ปลากัดมหาชัย และปลากัดอมไข่กระบี่ หรือปลากัดหัวโม่งกระบี่ (Betta simplex)

      ถัดมา 3.การพัฒนาเทคนิคการแช่แข็งเซลล์และวิธีการโคลนนิงต่างๆ เพื่อโคลนนิงปลากัดกลับมาอีกครั้ง เพราะในการพบปลากัดพันธุ์ดั้งเดิมนั้นจะพบได้ แต่อาจจะมองยากมาก ดังนั้นการวิจัยนี้อาจจะเป็นช่องทางช่วยในการเก็บข้อมูลที่เป็นมาตรฐานในการรู้ลักษณะของพันธุ์ดั้งเดิมเอาไว้ และนำไปสู่การส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้มีการพัฒนาปลากัดอย่างเวียดนาม จีน มาเลเซีย และในแถบประเทศยุโรป
    " เราจึงต้องเร่งอนุรักษ์และพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ เพื่อไม่ให้สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ และยกระดับชนิดและสายพันธุ์ของปลากัดไทยในอนาคต" ประธานโครงการ กล่าว

รศ.ดร.ครศร ศรีกุลนาถ

 ด้านนายโชค เพ็งดิษฐ์ นายกสมาคมปลากัด กล่าวว่า จากการสืบค้น ปลากัดมีการเพาะเลี้ยงมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ เพราะจากหลักฐานพบบันทึกเกี่ยวกับกฎหมายเรื่องการกัดปลาเหมือนกับการตีไก่ และมีการอ้างอิงจากภาพถ่ายที่มีการกัดปลาในเชิงการละเล่นและการพนัน จนเกิดเป็นวัฒนธรรมการเลี้ยงปลากัด ด้วยอุปนิสัยที่มีความดุ หวงถิ่นอาศัย ทำให้แม้จะเป็นพวกเดียวกันก็กัดกันเองโดยธรรมชาติ และปลากัดก็ยังสามารถพบได้ตามแหล่งน้ำทั่วไป กินง่าย ทำให้คนเริ่มนำปลากัดมาเลี้ยงและกัดแข่งขันกัน ในส่วนของสายพันธุ์ปลากัด อาทิ ปลากัดหม้อ ปลากัดลูกผสม ปลากัดจีน ปลากัดเขมร ปลากัดทุ่ง และอื่นๆ อีกจำนวนมาก คาดว่ามีผู้เลี้ยงเพาะพันธุ์ในไทยไม่ต่ำกว่า 10,000 คน แต่ที่อยู่ในสมาคมอีกประมาณ 1,300 คน
    "การที่ปลากัดได้รับการยกย่องให้เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ถือว่าเป็นก้าวสำคัญในการมุ่งมั่นอนุรักษ์ ซึ่งการร่วมมือโครงการในการเป็นธนาคารมอบตัวพันธุ์ปลากัดแท้ให้นำไปศึกษา สู่การพัฒนาเทคนิคในการเก็บรักษายีนต่างๆ ที่จะสามารถช่วยในการผสมพันธุ์ หรือทำให้เกิดสีปลาใหม่ๆ และยังสามารถสร้างมาตรฐานในการคัดเลือกปลากัดสวยงาม ในการมองดูว่าปลากัดตัวนี้เป็นพันธุ์แท้หรือไม่แท้อีกด้วย" นายกสมาคมปลากัด กล่าว

โชค เพ็งดิษฐ์ นายกสมาคมปลากัด

Let's block ads! (Why?)



"โดยธรรมชาติ" - Google News
July 28, 2020 at 10:29AM
https://ift.tt/2P0N3pD

วิจัยอนุรักษ์ "เอกลักษณ์พันธุกรรมปลากัดไทย' - ไทยโพสต์
"โดยธรรมชาติ" - Google News
https://ift.tt/3cniaVt
Share:

0 Comments:

Post a Comment