สร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุธรรมชาติ
วันที่ 04 ส.ค. 2563 เวลา 07:45 น.
ขยะพลาสติกเป็นปัญหาที่ทั่วโลกหาทางแก้ไข นำไปสู่เทรนด์การรักษ์โลกที่มุ่งเน้นการลดปริมาณขยะ ลดการใช้พลาสติก โฟม ทำให้มีแนวโน้มการใช้วัสดุทดแทนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
กรมควบคุมมลพิษประมาณการว่า ขยะพลาสติกในไทยมีประมาณปีละมากกว่า 2 ล้านตัน คิดเป็น 12% ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด ถึงแม้ว่าบางส่วนจะถูกกำจัดหรือนำกลับไปใช้ประโยชน์ แต่ก็มีอีกราว 1 ล้านตันที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเล และจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยจอร์เจียในปีค.ศ. 2015 พบว่าประเทศไทยจัดเป็นอันดับ 6 ของโลกที่ทิ้งขยะพลาสติกลงสู่ทะเลมากที่สุดคิดเป็นปริมาณ 1.3 ล้านตันต่อปี ต่อมาในปี 2018 ภาครัฐได้กำหนดนโยบายออกมาตรการลดและยกเลิกการใช้พลาสติกเพื่อลดปริมาณขยะภายในประเทศ ซึ่งขยะพลาสติกของไทยที่พบได้มากที่สุดในทะเล ได้แก่ ถุง(13%) หลอด(10%) ฝาพลาสติก(8%) และภาชนะบรระจุอาหาร (8%)
ประเทศไทยมีการรณรงค์ส่งเสริมให้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์รักษ์โลกและหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกและ โฟมอย่างต่อเนื่อง ทำให้การออกแบบผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการในยุคนี้ต้องคำนึงถึงปัญหาการกำจัดซากขยะ และการเลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติที่ใช้แล้วสามารถปลูกทดแทนขึ้นมาใหม่ เพื่อรักษาปริมาณทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่อีกทางหนึ่งด้วย
จากปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์รักษ์โลกรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นมามากมาย ที่ผู้ประกอบการไทยคิดค้นผลิตออกมาใหม่เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม และเหมาะสมกับการใช้งาน
บริษัท ตบชวา จำกัด ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นวัตกรรมกันกระแทกที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ด้วยคุณสมบัติของก้านผักตบชวาที่มีใยฟองน้ำด้านใน สามารถป้องกันสินค้าของคุณจากการกระแทกได้เป็นอย่างดี (ใช้แทนเม็ดโฟม) เหมาะสำหรับการขนส่งวัสดุ อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาขยะทางน้ำ ด้วยการนำ “ผักตบชวา” มาสร้างให้เกิดประโยชน์อีกครั้ง
ตบชวา เริ่มมาจากไอเดียของ วศการ ทัพศาสตร์ ผู้ร่วมก่อตั้ง สั่งของเล่นจากต่างประเทศเพื่อนำมาขายต่อ แล้ววัสดุกันกระแทกด้านในล้วนแต่เป็นพลาสติกหรือโฟมที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรต่อได้ จึงนึกถึงผักตบชวาที่เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในแม่น้ำลำคลอง ซึ่งตบชวารูปลักษณะเป็นป้องและมีใยฟองน้ำด้านใน มีคุณสมบัติในการกันกระแทกที่สามารถนำมาใช้ทดแทนได้ และข้อดีอีกอย่างคือเป็นวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ จากนั้นเลยได้มีการนำผักตบชวามาทดลองแพ็คสินค้า พร้อมจัดส่งจริงในระหว่างกลุ่มเพื่อน และส่งไปให้ทดลองใช้เอง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นเกินคาดและได้รับคำชมมากมาย แต่ก็จะมีข้อเสนอแนะจากกลุ่มเพื่อนบ้างว่าควรปรับตรงไหน และนำข้อเสนอแนะต่างๆนำมาพัฒนาให้ดีที่สุด จนเข้าสู่การสร้างแบรนด์ตบชวา กันกระแทก ณ ปัจจุบัน
ตบชวา ที่มีดีไม่ใช่แค่รักษ์โลก แต่ยังสามารถช่วยเสริมสร้างอาชีพให้แก่ชุมชนอีกมากมาย จุดประสงค์หลักที่มุ่งหวังไว้ คือการสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยการนำผักตบชวาหรือวัชพืชทางน้ำ มาแปรรูปให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์กันกระแทก “ตบชวา” นอกจากนี้แล้ว ยังส่งผลให้แม่น้ำ ลำคลองนั้นดี และใสสะอาดขึ้นตามมาอีกด้วย แม้ประโยชน์เหล่านี้อาจจะไม่ทำให้ลดจำนวนผักตบหมดไปได้ แต่ก็เป็นการใช้วัตถุดิบที่มีต้นทุนน้อย มาทำผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างรายได้ให้กับประชาชนอีกด้วย
คุณสมบัติของผักตบชวา คือสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ โดยการย่อยสลายจะสลายไปเป็นปุ๋ยดินสร้างประโยชน์ให้กับต้นไม้ต่อได้ เป็นวัสดุที่ทำจากธรรมชาติ 100% ไม่เป็นภัยต่อธรรมชาติ หลังการใช้งานเสร็จ ผักตบชวาตากแห้งสามารถนำไปทำประโยชน์ต่อได้อีก ไม่ว่าจะ นำไปเป็น ปุ๋ยต้นไม้, เชื้อเพลิงอัดแท่ง, รองกรงสัตว์เลี้ยง
จากกลยุทธ์การตลาดภายในประเทศเกือบ 1 ปี ได้เห็นโอกาสในการเติบโตของวัสดุกันกระแทกที่ผลิตจากธรรมชาติและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ เดือนละ 1,000 กิโลกรัม และมีการพัฒนามาตรฐานของผลิตภัณฑ์ เพื่อการขยายตลาดไปยังต่างประเทศต่อไป
กลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือกลุ่มผู้ประกอบการออนไลน์ที่เล็งเห็นความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อม และเป็นกลุ่มลูกค้าที่ต้องการสร้างการรับรู้แบรนด์(Brand Awareness) ผ่านกระบวนการการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี รวมถึงกลุ่มลูกค้าที่เป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ทั่วไป ที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์กันกระแทกแบบเดิมๆอยู่ก่อนแล้ว ต้องการยกระดับภาพลักษณ์ของแบรนด์ตนเองให้มากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันเริ่มมีกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ค้ารายใหญ่สอบถามเข้ามามากเนื่องจากเทรนด์สินค้ารักษ์โลกกำลังเป็นที่นิยม
ปัจจุบันกำลังการผลิตผักตบชวาตากแห้ง เพื่อนำมาผลิตเป็นวัสดุกันกระแทกของตบชวานั้นอยู่ที่ ประมาณ 800-1,000 กิโลกรัม และจากการประสานงานผ่านกลุ่มชาวบ้านและเกษตรกรชุมชน ตบชวาสามารถขยายกำลังการผลิตได้ถึง 3,000 กิโลกรัมต่อเดือน ขายในราคากิโลกรัมละ 280 บาท โดยในปัจจุบันตบชวาได้มีจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางออนไลน์ที่หลากหลาย อาทิ www.facebook.com/tobchawa หรือสั่งซื้อออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ www.tobchawa.com รวมถึง E-Commerce platform ยอดฮิตอย่าง Shopee หรือ Lazada
บริษัท ภิญโญวานิช จำกัด ผู้ผลิต ผลิตภัณฑ์จาก “กาบหมาก” ภายใต้ชื่อ “วีรษา” จานกาบหมากเรียกได้ว่าเป็นภาชนะทางเลือก และตอนนี้ก็กำลังรณรงค์ให้ลูกค้าส่วนใหญ่หันมาใช้สินค้าที่เป็นธรรมชาติให้มากขึ้น แต่ด้วยตลาดในประเทศไทย ยังไม่ให้ความสนใจและยังไม่ได้ผลตอบรับเท่าที่ควร เพราะว่าช่วงที่มีงานจัดกิจกรรม กลุ่มลูกค้าที่ให้ความสนใจกลับเป็นชาวต่างชาติมากถึง 90% ซึ่งการทำการตลาด ทางบริษัทจะตั้งเป้าหมายก่อนว่ากลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มไหน ในต่างประเทศจะตั้งเป้าหมายของกลุ่มลูกค้าได้ง่ายกว่า เพราะธุรกิจส่วนใหญ่ในต่างชาติจะเป็นธุรกิจที่เน้นธรรมชาติ ทั้งธุรกิจอาหาร โรงแรม หรือการจัดงานอีเวนต์
โดยไอเดียเริ่มมาจากครอบครัว “ภิญโญ” ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดเลี้ยงอาหารแบบขันโตกในงานประเพณีประจำปีของอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ตระหนักถึงการเลือกใช้ภาชนะที่บรรจุอาหาร โดยไม่ต้องการใช้ภาชนะโฟมซึ่งย่อยสลายยาก และก่อให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม จึงคัดสรรวัตถุดิบที่สามารถนำมาผ่านกระบวนการผลิต เพื่อให้ได้ภาชนะจากธรรมชาติ 100%
กาบหมาก มีคุณสมบัติตามที่ต้องการ ประกอบกับทักษะการประดิษฐ์เครื่องจักรในการผลิตที่ได้มาตรฐาน ทำให้มีภาชนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้บรรจุอาหารได้อย่างปลอดภัย น้ำหนักเบา ไม่แตกหักเสียหายง่าย สามารถใช้อุ่นอาหารในเตาไมโครเวฟได้ทนต่ออุณหภูมิ 18-200 องศาเซลเซียส สามารถบรรจุของเหลวได้ไม่รั่วซึม ทนความร้อนได้ดี รวมถึงมีกลิ่นหอมและลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และที่สำคัญคือ สามารถย่อยสลายได้ตามกระบวนการทางธรรมชาติ
จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว จนถึงปัจจุบัน ด้วยประสบการณ์กว่า 20 ปี เราจึงเป็นผู้ผลิตภาชนะจานกาบหมาก 100% เป็นรายแรกและรายเดียวในประเทศไทย ที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบันกำลังการผลิตจานกาบหมากวีรษาอยู่ที่ 1,500 ใบ/วัน รวม 10 รูปแบบ ขายในราคาใบละ 5-7 บาท ส่วนกลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นกลุ่มคนรักสุขภาพ ผู้จัดงานอีเวนต์ ลูกค้าองค์กร การจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ โรงแรม รีสอร์ต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็มีลูกค้าตามบ้านที่ต้องการซื้อในจำนวนไม่กี่ใบ สามารถสั่งซื้อได้ในเฟซบุ๊ก 'จานกาบหมากวีรษา' ซึ่งอนาคตเตรียมขายปลีกในโมเดิร์นเทรด 'ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต'
บริษัท กัญจนาพร (สยาม) จำกัด ผู้ผลิตจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูป “หลอดจากพืชตามธรรมชาติ” โดย “สุรพร กัญจนานภานิช” เจ้าของบริษัท มองเห็นปัญหาว่าหลอดชิ้นเล็ก แต่สร้างความเสียหายได้มากมาย โดยเฉพาะกับปัญหาของ สัตว์ในทะเล หลอดกลายเป็นพลาสติกที่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาและส่งผลกระทบต่อโลกใบนี้ มากกว่าพลาสติกชิ้นใหญ่ที่สามารถนำมารีไซเคิลใหม่ได้ และที่สำคัญยังได้ช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถขายผลผลิตได้มากขึ้น เพราะส่วนผสมทุกอย่าง เป็นพืชที่เกษตรกรปลูกกันอยู่แล้ว ทำให้สามารถมีอีกช่องทางหนึ่งในการระบายผลผลิตทางการเกษตรในช่วงที่ผลผลิตออกมาล้นตลาด
หลอดทำจากวัสดุธรรมชาติ จึงเป็นทางเลือกใหม่ เพื่อช่วยลดปัญหาพลาสติก ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทย ได้มีการคิดค้นหาผลิตภัณฑ์ที่มาใช้แทนหลอดพลาสติกกันอยู่หลายวิธี และหนึ่งในนั้น คือ หลอดกินได้ ที่ทำจากพืช อย่างมันสำปะหลัง ข้าว ข้าวโพด บุก และพืชอีกหลายชนิดที่สามารถนำมารับประทานได้ โดยผ่านกระบวนการผลิต ที่อยู่ภายใต้งานวิจัย ของหน่วยงานของภาครัฐ และสถาบันการศึกษา จนได้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์หลอดกินได้ สามารถแช่ในน้ำร้อนได้ 35 นาที และแช่ในน้ำเย็น และน้ำอุณหภูมิปกติได้ 6-12 ชั่วโมง โดยที่ยังคงรูปเหมือนเดิม และถ้าปล่อยไว้ให้ย่อยสลายตามธรรมชาติ ใช้เวลาประมาณ30 วัน หรือถ้าจะรับประทาน ต้องแช่น้ำ 3-5 นาที หลอดนิ่มและรับประทานได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และดีต่อสุขภาพ ถ้ารับประทานเข้าไป ช่วยเกษตรกรให้ขายผลผลิตทางการเกษตรได้เพิ่มขึ้น
โดยในปีแรก ตั้งเป้าการผลิตไว้ที่ 15 ล้านชิ้นต่อปี หรือ ถ้าคิดเป็นรายได้ประมาณ 27 ล้านบาท ส่วนราคาหลอดตั้งราคาไว้ที่ หลอดละ 1 บาท และที่ตั้งรายได้ไว้ที่ 27 ล้านบาท เพราะเราได้บวกค่าแพคเกจจิ้ง และหลอดในขนาดอื่นๆ ที่ราคาสูงกว่า 1 บาท เข้าไปด้วย
หลังจากที่ทำตลาดในประเทศ ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องขยายตลาดไปต่างประเทศ โดยเริ่มจากประเทศที่ประกาศยกเลิกการใช้หลอดพลาสติกก่อน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศแถบยุโรป และสหรัฐอเมริกา คาดว่าน่าจะเริ่มทำตลาดส่งออกได้ในปีที่ 3 เพราะด้วยกำลังการผลิตของเรา ไม่ได้มาก ถ้าผู้บริโภคคนไทย ใช้ผลิตภัณฑ์หลอดกินได้ของเราแค่เพียง 5% กำลังการผลิตของเราก็แทบจะเต็มอยู่แล้ว ดังนั้น การทำตลาดต่างประเทศ ในช่วงเริ่มต้น ก็คงจะยังทำไม่ได้เพราะต้องรอ การขยายกำลังการผลิตเพิ่มก่อน
"โดยธรรมชาติ" - Google News
August 04, 2020 at 07:55AM
https://ift.tt/3gs8iNh
สร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุธรรมชาติ - โพสต์ทูเดย์ work-life-balance - โพสต์ทูเดย์
"โดยธรรมชาติ" - Google News
https://ift.tt/3cniaVt
0 Comments:
Post a Comment