ศูนย์ข่าวภาคใต้ - นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เขียนจดหมายถึงอธิบดีกรมประมง ไม่เห็นด้วยกรณีจะประกาศให้ปากแม่น้ำที่มีเป็นพื้นที่อนุญาตเพาะเลี้ยงหอยแครง ชี้มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตมากกว่าหอยแครง
นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย โพสต์จดหมายที่เขียนถึงอธิบดีกรมประมงทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า จากข่าวของกรมประมง วันที่ 16 มิถุนายน 2563 กรณี กรมประมงได้เสนอแนวทางหอยแครงอ่าวบ้านดอน เพื่อคลายข้อพิพาทขัดแย้งนั้น ในการวิเคราะห์สาเหตุ ตนคิดว่ากรมประมงทำได้ค่อนข้างดี และตรงจุด กล่าวคือ สาเหตุเกิดจากอัตรารอดของลูกหอยแครงที่เพิ่มมากขึ้นกว่าหลายปีที่ผ่านมา เพราะปัจจัยจากการควบคุมการใช้เครื่องมือ และประการสำคัญคือ ปีนี้มีปัจจัยทางธรรมชาติทางอิทธิพลฝน และความเค็มของน้ำ ตลอดจนพื้นที่แหล่งอาหารเข้ามาเกี่ยวข้อง จนกระตุ้นทำให้หอยแครงขยายพันธ์ และมี “ลูกหอยแครง” เกิดขึ้นจำนวนมาก
“ปรากฏการณ์ลูกเชื้อหอยนี้ เกิดขึ้นอย่างชัดเจนบริเวณ อ.เมือง และ อ.พุนพิน ที่มีลักษณะระบบนิเวศเป็นทะเลโคลนปากแม่น้ำ แม้ว่าปีนี้จะเกิดความขัดแย้งจนเป็นที่ทราบโดยทั่วไป แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยน คือ ลักษณะทางภูมินิเวศปากแม่น้ำ ซึ่งหมายความว่า แหล่งพื้นที่นี้เป็นแหล่งเชื้อหอยโดยธรรมชาติที่ควรได้รับการบริหารจัดการเพื่อประโยชน์ส่วนรวมสาธารณะ” นายวิโชคศักดิ์ กล่าว
นายวิโชคศักดิ์ กล่าวว่า ได้ทราบว่า กรมประมงได้เสนอแนวทาง 3 ประการ ได้แก่ (1) “บูรณาการกำลังเจ้าหน้าที่จากทุกภาคส่วนในพื้นที่ร่วมกันบังคับใช้กฎหมายในการจัดการแปลงหอยที่รุกล้ำพื้นที่สาธารณะให้เป็นพื้นทำการประมงของชาวประมง” ตนเห็นด้วยและสนับสนุนแนวทางนี้ แม้จะทราบว่าในทางการจัดการคงยากลำบากที่จะให้เจ้าหน้าที่ไปต่อกรกับนายทุนเจ้าของแปลงหอยที่รุกล้ำพื้นที่สาธารณะก็ตาม
(2) กรมประมงเสนอแนวทางให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัด พิจารณา “พื้นที่พิพาท” ดังกล่าว ไปบริหารจัดการพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงหอยทะเล ด้วยการประกาศเป็นเขตเพาะเลี้ยงที่อนุญาตเลี้ยงหอยได้ โดยให้สิทธิแก่ประมงพื้นบ้านในการรวมกันเป็นกลุ่ม สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร หรือองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นฯ เพื่อบริหารจัดการร่วมกัน
และ (3) ให้กำหนดพื้นที่บางส่วนเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำ ห้ามทำการประมงอย่างถาวร สำหรับแนวทางที่ 2) ที่ว่า น่าจะให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดพิจารณาประกาศเป็นเขตเพาะเลี้ยง หรือ พูดง่ายๆ ว่า ประกาศให้บริเวณพื้นที่ปากแม่น้ำที่มีความเหมาะสมในการกำเนิดเชื้อพันธุ์หอยแครงตามธรรมชาติ ให้เป็นพื้นที่อนุญาตเพาะเลี้ยงได้ มอบสิทธิให้ในลักษณะกลุ่มนั้นตนไม่เห็นด้วย เพราะ 1) พื้นที่นี้มีคำตอบอยู่แล้วว่า เป็นพื้นที่ให้กำเนิดเชื้อหอยแครงธรรมชาติ ไม่ควรเปิดให้เอกชน หรือกลุ่มใดๆ ครอบครองพื้นที่เป็นแปลงเพาะเลี้ยง
2) พื้นที่ปากแม่น้ำในพื้นที่พิพาท หรือทะเลใดๆ ในชายฝั่งทะเลประเทศเรามีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต “มากกว่าหอยแครง” กล่าวคือ ยังมีสัตว์น้ำสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ อาศัย กำเนิด เติบโต ขยายพันธุ์ และพึ่งพากันในลักษณะห่วงโซ่ระบบนิเวศอาหารในตัวมันเอง อย่างที่ท่านได้รับข้อมูล และกล่าวไปบ้างแล้วในข่าวประชาสัมพันธ์ ว่า การกำเนิดของลูกหอยแครงจำนวนมากเป็น “ช่วงฤดูกาล” ขอขยายความว่า เป็นช่วงปลายฤดูแล้ง-ต้นฝน
3) ดังนั้น นอกจากหอยแครงแล้ว ยังมีรูปแบบของการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำที่หลากหลาย โดยชาวประมงพื้นบ้านและประชาชนทั่วไป เช่น ยังมีปลากระบอก ปลาทราย ปูม้า ปูทะเล ปลาหลายชนิด รวมทั้งหอยชนิดอื่นๆ อีกมากมาย 4) กรณี จะมอบสิทธิให้เป็นลักษณะกลุ่มนั้น แม้จะเสมือนว่าจะดี แต่ยังขัดกับเหตุผลข้อ 1-3 อยู่ดี และประการสำคัญอย่างที่เราทราบกันดี หากกระบวนการชุมชนไม่เข้มแข็งจริง หรือเกิดการสวมสิทธิทะเบียนสหกรณ์ ดี ไม่ดีพื้นที่อนุญาตเพาะเลี้ยงตกไปอยู่ในมือกลุ่มทุนเช่นเดิม กรมประมงก็จะมีตราบาป จากประสงค์ดีกลายเป็นร้าย มีส่วนช่วยเหลือนายทุน “ฟอกตัว” จาก “แปลงบุกรุก เป็นแปลงถูกกฎหมาย”
“ผมลองสรุปภาพรวมในการแนวทางทั้ง 3 อีกครั้ง ประมวลภาพได้ว่า จัดการพื้นที่บุกรุกใหม่ด้วยการเปิดแปลงอนุญาตเพาะเลี้ยงให้ส่วนหนึ่ง และประกาศกำหนดเขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำห้ามทำการประมงส่วนหนึ่ง คำถามคำโตๆ ที่ผุดขึ้นทันที คือ แล้วพื้นที่สาธารณะที่ชาวประมงพื้นบ้านและประชาชนทั่วไปจะได้เข้าถึง เข้าไปใช้ประโยชน์อย่างถูกกฎหมายตามฤดูกาลจะหายไปหรือไม่ อีกประการที่ผมอยากเสนอกรมประมง และสะกิดทุกฝ่ายได้รับทราบ คือ พวกเราต้องไม่ลืมการวิเคราะห์ผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา และกำลังดำเนินอยู่ในช่วงปลายนี้ ผมพบว่าประชาชนจำนวนมากมายที่จำเป็นต้องแห่แหนกันไปหาจับหอยในกรณีอ่าวบ้านดอน ในรอบนี้มากมาย เพราะช่วงโควิด-19 ขาดรายได้ มีประชาชนไปเก็บหอยจากหลากหลายพื้นที่ เมื่อทราบว่ามีเชื้อหอยที่ขายได้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 700 บาท ประชาชนเหล่านั้นต่างไปเสี่ยงเอาดาบหน้า เพื่อหารายได้เลี้ยงตัว ควานหอยได้วันละ 5 กิโลกรัม ก็เฉียดๆ สี่พันบาท แม้ไม่ได้เป็นชาวประมงโดยอาชีพ แต่ก็เป็นประชาชนลูกหลานไทย” นายวิโชคศักดิ์ กล่าว
นายวิโชคศักดิ์ กล่าวว่า วัฒนธรรมหาหอย เป็นวัฒนธรรมที่มีคุณค่าสำหรับประชาชน โดยมีปรากฏอยู่ทั่วไปแต่ละพื้นที่แต่ละจังหวัด ซึ่งมีช่วงเวลาฤดูกาล ต่างๆ กันไป เราควรรักษา ส่งเสริมการเข้าถึง แต่ต้องกำหนดวิธีการเก็บหาอย่างยั่งยืน จะเป็นทางออกที่ดีอีกประการหนึ่ง อยากฝากเรียนไปถึงท่านประมงจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม ด้วยจะดีมาก ประการสุดท้าย ตนสนับสนุนให้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายจัดการกับแปลงหอยบุกรุกโดยเด็ดขาด เพราะความรุนแรงจะตามมาไม่หยุด บางรายบุกรุกพื้นที่สาธารณะแล้วลงทุนแค่ 2 ล้านบาท ยังมีสิทธิชักปืนยิงต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่และประชาชนนับพัน ไลฟ์สด นับประสาอะไรกับนายทุนที่ ลงทุนไปหลายสิบล้านร้อยล้าน เขาจะไม่ไลฟ์สดโชว์การฆ่าคนต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่หรือ?
"โดยธรรมชาติ" - Google News
June 17, 2020 at 10:30AM
https://ift.tt/2Y9Zxk9
นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทยไม่เห็นด้วยประกาศปากแม่น้ำเป็นพื้นที่อนุญาตเลี้ยงหอยแครง - ผู้จัดการออนไลน์
"โดยธรรมชาติ" - Google News
https://ift.tt/3cniaVt
0 Comments:
Post a Comment